วันอาทิตย์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2551

ภูมิปัญญาจากวัฒนธรรมไทยแห่งศิลปะการแสดง “หุ่นคน”

โดย อาจารย์ณัฐวัฒน์ บำรุงพานิช


“แว่วเสียงเพลงบรรเลงด้วยกลอง เน้นท่วงทำนอง สอดคล้องสำเนียงเสียงพม่าผสมมโนราห์บูชายันต์ เป็นจังหวะของห้องดนตรีที่ไม่พ้องจองกับความเคยชินในแถบถิ่นดินแดนแคว้นสยามสักเท่าใดนัก อีกทั้งท่าทางการขยับเขยื้อนเคลื่อนสรีระของเจ้าหุ่นกระบอกร่างเท่ามนุษย์ ภายใต้กำมือของผู้เชิดที่กำลังชักใยกุมบังเหียนอยู่ด้านหลังนั่นอีก ยิ่งพอกวาดสายตาไปเก็บรายละเอียดทุกกระเบียดนิ้วของเสื้อผ้าอาภรณ์ ที่บรรจงปักดิ้นเงินดิ้นทอง เรียงร้อยลูกปัดสารพัดหลากสี จวบจนสีสันของเมคอัพบนใบหน้าและเรือนกายที่ขาวโพลน เขียนคิ้วเป็นเส้นโก่ง วาดขอบปากเรียวเล็ก บ่งบอกความรู้สึกบนใบหน้าด้วยสีสันลวดลายกนก ลงบนผิวตัวละครทั้งหุ่นทั้งคนมาเสกผสมเป็น "หุ่นคน" ชวนพิสมัย”

1. บทนำ
ผู้ศึกษามีความสนใจที่จะศึกษาภูมิปัญญาจากวัฒนธรรมไทยแห่งศิลปะการแสดง “หุ่นคน” ซึ่งจะทำให้ผู้ศึกษาทราบถึงภูมิปัญญาจากการแสดงหุ่นคนนี้ เนื่องจากการแสดงหุ่นคนเป็นการประยุกต์ศิลปะ โดยการผสมผสานศิลปะการแสดงต่างๆ โดยนำเอาเหตุการณ์ต่างๆ ในวรรณกรรมและวรรณคดี ตลอดจนวิถีชีวิตของสังคมไทยมาดัดแปลงแต่งเติมให้เป็นบทแสดง ดังนั้น ภูมิปัญญาจากวัฒนธรรมไทยแห่งศิลปะการแสดง “หุ่นคน” จะทำให้ผู้ศึกษาทราบถึงภูมิปัญญาจากการแสดง ”หุ่นคน” และยังเป็นแนวทางในการอนุรักษ์และสืบสานศิลปะที่กำลังจะถูกลืม
อีกทั้ง ผู้ศึกษายังได้เป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ณัฐวัฒน์ บำรุงพานิช ซึ่งเป็นผู้คิดค้นการแสดง “หุ่นคน” โดยผู้ศึกษาเป็นผู้แสดง ทั้งเป็น หุ่น และเป็น คนเชิด ซึ่งจากประสบการณ์ที่ได้แสดง “หุ่นคน” ผู้ศึกษามีความภูมิใจและสนใจที่จะศึกษา เรียนรู้ ศิลปะการแสดงหุ่นคน ต่อไป เพื่อเป็นการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาศิลปะวัฒนธรรมไทยไม่ให้เลือนหายไปจากปัจจุบัน
2. ประวัติ
ศิลปะการแสดงหุ่นคนมีต้นกำเนิดจากหุ่นหลวง หุ่นกระบอก หุ่นละครเล็ก การแสดงหุ่นของภาคต่างๆ หนังตะลุง โขน ละคร และระบำรำฟ้อนมาผสมผสานกันระหว่างศิลปะการเชิดหุ่นและหนังใหญ่ต่างๆ ตลอดจนการแสดงศิลปะแบบสากล ประกอบกับลีลาท่าทางของผู้แสดงให้ออกมาเป็นเรื่องราว โดยนำเอาเหตุการณ์ต่างๆในวรรณกรรมและวรรณคดี ตลอดจนวิถีชีวิตของสังคมไทยมาดัดแปลงแต่งเติมให้เป็นบทแสดง แล้วประยุกต์ในเชิงเปรียบเทียบระหว่างคนกับหุ่น หรือคนเลียนแบบหุ่น โดยได้นำวิธีการเชิดหุ่น รูปแบบการแสดง การดำเนินเรื่อง ตลอดจนการแต่งกายของหุ่น เพื่อให้เข้ากับปัจจุบัน เป็นการแสดงร่วมสมัยได้อย่างน่าสนใจ อีกทั้งยังเป็นแนวทางในการอนุรักษ์และสืบสานศิลปะที่กำลังจะถูกลืม
นอกจากนี้ได้นำการแสดงมาปรับปรุงใหม่ โดยใช้คนแทนหุ่นหลวง และยังคงรักษารูปแบบเดิมของการแสดงหุ่นแต่ละประเภทไว้ เพียงแต่เปลี่ยนจากหุ่นมาเป็นคนเท่านั้น เมื่อปี พ.ศ.2537 ซึ่งการแสดงหุ่นคนดังกล่าวในตอนนั้นยังไม่มีแบบฉบับที่แน่ชัดและไม่สวยงามมากนัก หลังจากนั้นจึงได้พัฒนารูปแบบต่อมาเรื่อยๆกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2543 จึงได้รับความนิยมเป็นอย่างดีจากกระแสสังคมที่เริ่มยอมรับศิลปะการแสดงหุ่นคน ด้วยเป็นเพราะว่าความแปลกนั่นเอง
ประวัติของผู้คิดค้นการแสดง”หุ่นคน”
1. ประวัติส่วนตัว นายณัฐวัฒน์ บำรุงพานิช นามแฝง อาจารย์จอม หรือ อาจารย์กลางวันเดือนปีเกิด 22 ธันวาคม 2507 เกิดที่อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง เป็นบุตรคนที่ 7 ในจำนวนพี่น้อง 9 คน สถานภาพ โสด
2. ที่อยู่ที่ติดต่อได้ หมู่บ้านฉัตรประภา 226/2 ตำบลลาดยาว อำเภอจตุจักร จังหวัดกรุงเทพฯ โทรศัพท์ 081-7922807
3. สถานที่ผลิตผลงานศิลปะ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ เลขที่ 18/18 ตำบลบางโฉลง อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ รหัสไปรษณีย์ 10540โทรศัพท์ 02-3126387
4. การศึกษาปีที่สำเร็จการศึกษา วุฒิการศึกษา สถานศึกษา 2535 นาฎศิลป์ชั้นสูง วิทยาลัยนาฎศิลป์ 2537 นาฏศิลป์และการละคร มหาวิทยาลัยราชภัฎจันทร์เกษม 2542 ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต(การจัดการสิ่งแวดล้อม) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
5. สาขาที่เชี่ยวชาญ ศิลปการแสดงด้านนาฎศิลปไทยและประยุกต์
6. ชื่อผลงานที่เป็นผู้สร้างสรรค์หรือผลิตขึ้นมาใหม่ด้วยตนเอง มีลักษณะที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ เฉพาะตัว ปีที่ผลิต ชื่อผลงาน ขนาด/คุณลักษณะ 2537 การแสดงหุ่นคน ใช้คนเลียนแบบหุ่น (จำนวน 10 ชุด) 2542 ระบำรำฟ้อน คิดสร้างสรรค์เป็นระบำ (จำนวน 20 ชุด) 2546 นาฎศิลป์ประยุกต์ สร้างสรรค์นาฎศิลป์ไทยสู่นาฎศิลป์ร่วมสมัย (จำนวน 17 ชุด) 2547 หุ่นละครคน สร้างหุ่นขนาด 170 ซม. เลียนแบบคน (จำนวน 1 ชุด)
ผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ
"การแสดงหุ่นคน" จัดแสดงโดยคณะหุ่นคนฝ่ายศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติได้รับการคัดเลือกจากสถานีวิทยุแห่งประเทศไทย ช่อง 11 เป็นตัวแทนประเทศไทย เข้าร่วมงาน ศิลปการแสดงของเยาวชนครั้งที่ 1 ณ เขตปกครองพิเศษ เสิ่นเจิ้น สาธารณรัฐประชาชนจีนระหว่างวันที่ 12-19 กันยายน พ.ศ. 2550 ในการร่วมงานดังกล่าวการแสดงหุ่นคนได้รับรางวัลชนะเลิศ จากประเทศที่ข้าร่วมงานทั้งสิ้น 28 ประเทศ 32 ชุดการแสดง

3. วัตถุประสงค์
"หุ่นคน" เป็นส่วนหนึ่งของศิลปะไทย โดยวัตถุประสงค์ในการนำเสนอเพื่อต้องการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมประจำชาติไทย พร้อมทั้งยังมุ่งหวังให้ผู้ที่สามารถสนับสนุนและส่งเสริมศิลปะไทย ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญ ช่วยผลักดันให้วงการศิลปะไทยก้าวหน้าต่อไปเรื่อยๆ เป็นกำลังใจให้ศิลปินและผู้ที่สนใจได้มุ่งมั่นพัฒนาฝีมือทางด้านศิลปะอย่างเต็มที่

4. ตัวอย่าง ชื่อชุดการแสดง
- ชุดหุ่นคนวิลาศลักษณ์ศุภฤกษ์เบิกฟ้า : การเชิดหุ่นคนที่ถ่ายทอดเรื่องราวของเหล่าเทวดานางฟ้า
- ชุดหุ่นคนกินนราชเวดากอง
- ชุดหุ่นคนนาฏกรรมอลังการหนังใหญ่
- ชุดหุ่นคนบัลเล่ย์เทิดพระเกียรติ
- ชุดหุ่นคนพรานบุญจับนางมโนราห์
- ชุดหุ่นคนหนุมานจับนางสุพรรณมัจฉา
- ชุดหุ่นคน 4 ภาค
- ชุดหุ่นคนพระมหาชนก
- ชุดหุ่นคนตะลุงโนราห์
- ชุดหุ่นคน “หุ่นละครคน”
- ชุดหุ่นคนวายังโอรัง
- หุ่นคนลายไม้
- ชุดหุ่นคนกิงกะหล่า




5. เนื้อหาการแสดง
ตัวอย่าง การแสดงหุ่นคนพรานบุญจับนางมโนรา
หลังเสียงเพลงบรรเลง นักแสดงเคลื่อนไหวขยับเรือนร่างไปตามจังหวะที่ลงตัวกันทั้งหุ่นคน ทั้งผู้เชิด สีหน้าแววตานิ่งสนิท เหมือนสลัดวิญญาณของมนุษย์ออกจากร่าง ยกแขน ยกขา ตามเส้นเชือกระโยงที่ผูกไว้บริเวณข้อต่อของร่างกาย ได้แก่ หัวไหล่ ข้อศอก ข้อมือ หัวเข่า และข้อเท้า เรียกว่าหุ่นสาย เป็นหุ่นคนที่มีสายโยงใยบังคับด้วยมือ
ต่อจากนั้นก็มีกินรีโบยบินเข้ามาตามท้องเรื่อง แขนร่ายรำด้วยการบังคับจากไม้ ส่วนเท้ากวัดแกว่งเหมือนกำลังเหาะเหินด้วยสองมือของผู้เชิดอยู่ด้านหลัง เรียกว่าหุ่นคนที่บังคับด้วยมือและเท้า
เมื่อเสียงเพลงจบลงพร้อมกับสิ้นสุดการแสดง หุ่นคนตัวนาง โดย วนิดา ตันติโชติมัย คณะพยาบาลศาสตร์ ปี3 เล่าให้ฟังว่า "การแสดงหุ่นคนจะยากในช่วงแรก ต้องอาศัยขยันหมั่นฝึกซ้อม และสิ่งที่ยากที่สุดคือ การแสดงให้เหมือนหุ่น ต้องคิดว่าตัวเองเป็นหุ่นด้วย ทั้งสีหน้าและแววตาที่ต้องนิ่ง อีกทั้งการเคลื่อนไหวต้องพร้อมไปกับผู้เชิด การแสดงหุ่นคนถึงจะสมจริง และด้วยเป็นคนชอบนาฏศิลป์เป็นทุนเดิม โดยช่วงแรกเรียนการแสดงนาฏศิลป์ไทยและสากล ซึ่งเป็นพื้นฐานที่ดีสำหรับการแสดงหุ่นคน ช่วยให้มีระเบียบวินัย มีสมาธิมากขึ้นด้วย
ผู้เชิดหุ่นคน โดยชัยพร ทรัพย์คง คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์และสวัสดิการสังคม ปี 4 บอกว่า "ผู้เชิดต้องมีสมาธิ เพราะคนกับหุ่นต้องเคลื่อนไหวสอดคล้องกันตลอดเวลา มีเสน่ห์อยู่ที่ลีลาการเคลื่อนไหวและอารมณ์ ซึ่งต้องเรียนรู้กิริยาท่าทางของหุ่น เพื่อเวลาเชิดจะได้เคลื่อนไหวเป็นจังหวะพร้อมกัน"
หุ่นคนกินรี โดยวิชาญ บุญค้ำ คณะสาธารณสุขศาสตร์และสิ่งแวดล้อม ปี 2 เล่าว่า "ตอนแรกนั้นไม่ได้รู้สึกชอบหุ่นคนมากนัก กระทั่งได้สัมผัสถึงความแปลกแล้วจึงอยากศึกษา คิดว่าวัยรุ่นควรสืบทอดวัฒนธรรมที่กำลังจะหายไป นอกจากนี้ กินรี ซึ่งมีผู้เชิดถึง 4 คนด้วยกัน ยังช่วยให้พวกเรามีความสามัคคีและพร้อมเพรียงในหมู่คณะด้วย"
ตัวอย่าง การแสดงหุ่นคน วายังโอรัง

การแสดงอันน่าอัศจรรย์ใจของมนุษย์ผู้ใช้ร่างกายแทนหุ่นเชิด ร่ายรำไปตามท่วงทำนองด้วยแรงชักเชิดจากผู้เชิดทั้งสี่นี้ ได้รับแรงบันดาลใจมากจาก วายัง โอรัง (Watang Orang) นาฏกรรมเก่าแก่แห่งราชสำนักชวา ซึ่งได้รับการสืบทอดมาจนกลายเป็นนาฏศิลป์ประจำชาติของอินโดนีเซียในปัจจุบัน
สำหรับชื่อ “วายัง โอรัง” ที่อาจจะฟังดูแปลกหูอยู่บ้างนี้ อาจารย์ณัฐวัฒน์ บำรุงพานิช ผู้ก่อตั้งคณะฯ ได้คลายข้อสงสัยให้เราฟังว่าเป็นภาษายาวี โดยคำว่า ‘วายัง’ หมายถึง หุ่นหรือหนัง ส่วน “โอรัง” หมายถึง คน และที่ใช้ชื่อนี้ก็เป็นเพราะว่าตัวพี่จอมเองมีพื้นเพเป็นคนใต้ เมื่อได้สานต่อความตั้งใจของตัวเอง ในการจัดตั้งคณะหุ่นคนขึ้นมาแล้วก็อยากจะอนุรักษ์ภาษาท้องถิ่นของตัวเองไว้ด้วยเช่นกัน
การแสดงอันน่าอัศจรรย์ใจของมนุษย์ผู้ใช้ร่างกายแทนหุ่นเชิด ร่ายรำไปตามท่วงทำนองด้วยแรงชักเชิดจากผู้เชิดทั้งสี่นี้ ได้รับแรงบันดาลใจมากจาก วายัง โอรัง (Watang Orang) นาฏกรรมเก่าแก่แห่งราชสำนักชวา ซึ่งได้รับการสืบทอดมาจนกลายเป็นนาฏศิลป์ประจำชาติของอินโดนีเซียในปัจจุบัน
พ.ศ.2537 การแสดงวายัง โอรัง จึงเริ่มเผยแพร่เข้ามาสู่ประเทศไทย และได้รับการสร้างสรรค์ใหม่ โดยนำมาผสมผสานกับเอกลักษณ์ของหุ่นละครแบบไทย กลายเป็น วายัง โอรัง ภายใต้จิตวิญญาณแห่งความเป็นไทย ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในปี พ.ศ.2543 โดยเฉพาะคณะหุ่นคน วายัง โอรัง ของ อาจารย์ณัฐวัฒน์ บำรุงพานิช หัวหน้าฝ่ายศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งถือเป็นผู้บุกเบิกและพัฒนาหุ่นวายัง โอรังแบบไทยมาโดยตลอด
เสน่ห์ของวายัง โอรัง คือความงดงาม แนบเนียนของการเชิดที่เปรียบดังการถอดจิตใจและความมีชีวิตของคนผู้รับบทเป็นหุ่นออก แล้วให้ผู้เชิดทั้งสี่เติม “ชีวิตใหม่” เข้าไปแทนที่ร่ายรำตามลักษณะการเชิดหุ่นละครเล็ก และหุ่นละครหลวง ซึ่งสาบสูญไปแสนนาน
เล่ากันว่า การเชิดวายัง โอรัง เป็นการแสดงที่แฝงปรัชญาเอาไว้ว่า หุ่นคนก็คือคน มีกิเลสตัณหาเป็นผู้เชิดให้คิด ทำ อะไรตามแต่ใจปรารถนา เมื่อใดหลุดพ้นจากความอยาก เมื่อนั้นก็จะกลับเป็นคนโดยสมบูรณ์อีกครั้ง


ตัวอย่าง การแสดงหุ่นคนเทิดพระเกียรติ ณ พระนารายณ์ราชนิเวศน์ (ลพบุรี)


เป็นการนำเสนอ 1 ชุดการแสดงที่จะถ่ายทอดความหมายความจงรักภักดี เทิดพระเกียรติ มหาอภิกษัตริย์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราชเป็นการแสดงผสมผสานการเชิดหุ่นละครเล็กคนกับหนังใหญ่ ประกอบด้วย 2 องก์
องก์ 1 บทเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ๘๐พรรษามหาราช โดยสมมุติฐานเหล่าบรรดาเทวดานางฟ้าลงมาจากสรวงสวรรค์เพื่อร่วมเฉลิมฉลองงานในครั้งนี้
องก์ 2 กล่าวถึงนางฟ้าออกมาฟ้อนรำอย่างสนุกสนานเพลิดเพลินด้วยความยินดีปรีดาความงดงามยิ่งใหญ่อลังการของศิลปวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในยามค่ำคืน ณ พระราชวังแห่งนี้ ที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยา และได้รับการบูรณะอีกครั้งในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทำให้ พระนารายณ์ราชนิเวศน์ยังคงความงดงามเหนือกาลเวลา ...














5.1 วิธีการเชิด


ผู้เชิด
สำหรับอันดับแรกที่แต่ละคนจะต้องเรียนรู้ก็คือพื้นฐานด้านการรำนะครับ ผู้เชิด 4 คน จะต้องรำท่าเดียวกันหมด ในส่วนของคนเชิดก็จะต้องฝึกการเดิน การยกตัวที่เป็นหุ่นให้ได้ แล้วก็มีเรื่องเทคนิคการเป็นหุ่น เพราะว่าจะต้องทำตัวให้เหมือนตัวหุ่นละครเล็ก ช่วงแรกที่ซ้อมอาจจะใช้เวลานานหน่อยและมีขัดแย้งอยู่บ้าง แต่พอมีพัฒนาการมันก็ง่ายขึ้นตามลำดับ
หุ่น
ผู้แสดงเป็นหุ่น จะใช้วิธีการจินตนาการว่าเราเป็นหุ่น คือจะสังเกตได้ว่าการเป็นหุ่นจะต้องตัวอ่อนเนื่องจากหุ่นไม่มีชีวิต ไม่สามารถบังคับตัวเองได้ เราก็ต้องเป็นอย่างนั้นให้ได้ ก็ใช้วิธีสังเกตและสมมุติว่าตัวเองเป็นหุ่นเอา














5.2 รูปแบบการแสดง

ในการแสดงแต่ละครั้งนั้น ประกอบไปด้วยตัวหุ่นกับคนเชิด โดยปกติจะมี 4 คนเชิดต่อหุ่น 1 คน บางครั้งใช้คนเชิด 1 คน ต่อหุ่น 1 ตัว หรือคนเชิด 5 คน ต่อหุ่น 1 คน แล้วแต่ชุดการแสดง ซึ่งตัวหุ่นก็จะแบ่งไปตามเรื่องราวของวรรณคดีต่าง ๆ ทั้งหนุมาน นางเบญจกาย นางกินรี หรือว่าพรานบุญ เป็นต้น

5.3 การดำเนินเรื่อง
ด้านเนื้อเรื่องที่จะนำมาแสดงจะเป็นเรื่องราวของวรรณคดีต่าง ๆ รวมถึงวิถีชีวิตและการละเล่นต่าง ๆโดยในการแสดงแต่ละครั้งนั้นอาจารย์จอมจะเป็นผู้พิจารณาดูว่าเรื่องไหนมีความน่าสนใจ ก็จะเพิ่มความน่าตื่นเต้น สนุกสนานเพื่อให้คนดูรู้สึกสนุกไปด้วย อย่างเช่น ตอนหนุมานจับเบญจกาย ก็จะมีการตามล่ากันอย่างสนุกสนาน มีวิ่ง มีเหาะ เป็นต้น

5.4 เพลงประกอบการแสดง

สำหรับเพลงที่ใช้ในการแสดงแต่ละครั้งจะใช้เพลงที่สอดคล้องกับเรื่องราวของวรรณคดีต่าง ๆ ที่นำมาแสดง ทั้งเพลงไทยเดิม จังหวะดนตรีสากล เช่น หุ่นคนกิงกะหล่า ก็จะใช้เพลงที่มีจังหวะดนตรีทางเหนือร่วมกับจังหวะดนตรีสากล หรือมโนราห์บูชายัน จะใช้เพลงไทยเดิม ประยุกต์ร่วมกับจังหวะดนตรีสากล เป็นต้น

5.5 การแต่งหน้า
ผู้ที่แสดงเป็นหุ่นจะต้องทาหน้าขาวให้เหมือนกับว่าเป็นหุ่นจริง ๆ และเขียนคิ้ว ตา จมูก ปากให้เป็นไปตามลักษณะของตัวละครที่วรรณคดีได้ให้ไว้...
5.6 การแต่งกาย
รูปแบบของการแต่งกายของหุ่น จะแต่งการเลียนแบบหุ่นละครเล็กตามแต่เนื้อเรื่องที่จะเล่น ส่วนเครื่องแต่งกายของผู้เชิด เน้นที่ชุดสีดำ ใส่เสื้อราชประแตนสีดำ นุ่งโจงกระเบนสีดำ ประดับด้วยดิ้นเงินดิ้นทอง






6. วิเคราะห์คุณค่าภูมิปัญญา

- ลักษณะเฉพาะ/เอกลักษณ์
จากการที่อาจารย์จอมมีประสบการณ์การแสดงมาอย่างยาวนาน โดยคิดค้นศิลปการแสดงด้านนาฎศิลปไทยและประยุกต์ ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ทางด้านการแสดง จนเกิดภูมิปัญญาใหม่ คิดประดิษฐ์การแสดงหุ่นคน ที่ผสมผสานกันระหว่างศิลปะการเชิดหุ่นและหนังใหญ่ต่างๆ ตลอดจนการแสดงศิลปะแบบสากล ที่สร้างสรรค์โดยผลิตขึ้นมาใหม่ด้วยตนเอง ทำให้การแสดงหุ่นคนมีลักษณะที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ เฉพาะตัว จุดเด่น คือ นำคนมาแสดงเป็นหุ่น ซึ่งคนดูจะตกใจมาก ยิ่งเวลาแสดงจริงจะแต่งหน้าให้ขาว เขียนคิ้ว เขียนปากให้เหมือนหุ่น แล้วคนดูจะนั่งทายกันว่าคนหรือหุ่น

- กระบวนการถ่ายทอดองค์ความรู้ของภูมิปัญญา
หากความมุ่งมั่นในการอนุรักษ์ศิลปะการแสดงหุ่นคนให้คงอยู่ ทำให้อาจารย์จอม ริเริ่มการพัฒนา และสืบทอดศิลปะแขนงนี้ผ่านนักศึกษา จัดตั้งเป็นคณะ "หุ่นคน"
อาจารย์จอม นำการแสดงหุ่นคน ไปทดลองเผยแพร่บนเวทีการแสดง ปรับปรุง เพิ่มเติมจนเกิดความสวยงาม น่าชม จากนั้นนำไปสอนนักศึกษามหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ และลูกศิษย์ที่มาศึกษาตามอัธยาศัย ทำให้สิ่งที่คิดค้นประดิษฐ์ขึ้นเป็นศิลปะประจำจังหวัดสมุทรปราการที่ได้รับการยอมรับจนถึงปัจจุบัน
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การเรียนรู้และสืบทอดองค์ความรู้ด้านศิลปะการแสดงหุ่นคน อาจไม่แพร่หลายในเรื่องของการสอนการแสดงหุ่นคนมากเท่าศิลปะการแสดงหุ่นประเภทอื่น เนื่องจากความรู้อยู่ที่ตัวอาจารย์จอม ประกอบกับความต้องการซึ่งห้ามมิให้ผู้ใดลอกเลียนแสดงหุ่นคน

- ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับภูมิปัญญา
จากการให้ความสำคัญกับการฝึกซ้อมอย่างไม่ย่อท้อ ส่วนหนึ่งมีที่มาจากความเป็นกันเองของครูผู้สอน ที่สร้างความประทับใจให้กับพวกเขาเป็นอย่างมากนั้น ก็ได้ส่งผลให้ฝีไม้ลายมือในการแสดงของแต่ละคนอ่อนช้อยขึ้นเป็นลำดับ และได้รับคำชมอย่างไม่ขาดสาย จากคนดูหลายสาขาอาชีพในแต่ละครั้งที่พวกเขาออกตระเวนไปทำการแสดงไม่ว่าที่แห่งใด ทว่า สาระแห่งการเรียนรู้ศาสตร์แห่งนาฏศิลป์คนเชิดคน ในความรู้สึกของเยาวชนกลุ่มนี้ไม่ได้มีแค่เพียงกำลังใจจากคนดูเท่านั้น แต่ยังได้กำลังใจจากเพื่อน และการสนับสนุนจากผู้บริหารของมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติอีกด้วย นับเป็นปัจจัยเกี่ยวข้องที่สำคัญที่จะเป็นส่วนช่วย อนุรักษ์ และสืบสานให้ศิลปะการแสดงหุ่นคน ดำรงอยู่คู่สังคมไทยต่อไป




- สะท้อนวิถีชีวิต
วิถีชีวิตในอดีต เมื่อมีงานหรือประเพณีต่างๆ จะมีการนำการแสดงซึ่งเป็นศิลปะของไทย มาแสดงในงาน ซึ่งผู้คนในอดีตมีความชื่นชอบ และชื่นชมศิลปะการแสดงนาฏศิลป์ไทยทุกแขนง เช่น ศิลปะการเชิดหุ่นหลวง หุ่นกระบอก หุ่นละครเล็ก หนังตะลุง โขน ละคร และระบำรำฟ้อน โดยนำเอาเหตุการณ์ต่างๆในวรรณกรรมและวรรณคดี ตลอดจนวิถีชีวิตของสังคมไทยมาเป็นบทแสดง
วิถีชีวิตปัจจุบัน การแสดงที่เป็นนาฏศิลป์ไทยแบบดั้งเดิมไม่ค่อยได้รับความนิยมจากประชาชนทั่วไปในปัจจุบันมากนัก การที่อาจารย์จอมคิดประดิษฐ์การแสดงหุ่นคนขึ้นมา และได้รับความชื่นชอบจากสังคมปัจจุบันเป็นอย่างมาก ทั้งในประเทศและต่างประเทศ นับว่าเป็นการสร้างสรรค์งานที่แปลกใหม่แต่ยังคงรักษาเอกลักษณ์ของต้นฉบับไว้อย่างครบถ้วน เว้นแต่ใช้คนแสดงแทนหุ่น ทำให้คนหันมาชื่นชอบ และชื่นชมนาฏศิลป์ไทยกันมากขึ้น ทำให้นาฏศิลป์ไทยยังคงอยู่คู่สังคมไทยไปอีกนาน
อีกทั้ง นักศึกษาได้ประสบการณ์ทั้งในเรื่องการแสดงและการติดต่อประสานงานกับองค์กรต่าง ๆ เรื่องมนุษย์สัมพันธ์ ได้ฝึกสมาธิ ฝึกการทำงานเป็นทีม ที่สำคัญมันเป็นกิจกรรมที่ดีกว่าการที่จะไปมั่วสุมในเรื่องของยาเสพติด และยังได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และสืบสานศิลปะ วัฒนธรรมไทยให้ยั่งยืนต่อไปได้อีกด้วย


















7. แนวทางการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนาภูมิปัญญาไทย ด้านนาฏศิลป์ : การแสดง “หุ่นคน” ของอาจารย์ณัฐวัฒน์ บำรุงพานิช

อ.ณัฐวัฒน์ ฝากถึงผู้ที่มีกำลังทรัพย์พอที่จะช่วยสนับสนุน "หุ่นคน" ซึ่งนับได้ว่ามีความเป็นศิลปะสายเลือดไทยที่น่าสนใจว่า “แม้แต่ต่างชาติยังชื่นชอบ แต่ถ้าคนไทยด้วยกันเองไม่อนุรักษ์ไว้ คงน่าเสียดาย และกว่าที่การแสดงแต่ละครั้งจะปรากฏสู่ สายตาผู้ชมได้นั้น ทีมงานต้องเตรียมตัว เตรียมงบประมาณต่างๆเอง ตั้งแต่เรื่องเครื่องแต่งกายที่คิดเองทำเอง อุปกรณ์ประกอบถ้าประดิษฐ์ขึ้นเองได้ก็ต้องช่วยกัน รวมถึงเครื่องสำอางที่ใช้แต่งหน้าให้คนกลายเป็นหุ่น พวกเราก็ต้องใช้เงินส่วนตัวด้วยเช่นกัน
หรือว่าปัญหานี้กำลังจะกลายเป็นวิกฤตของวงการศิลปวัฒนธรรมบ้านเราไปแล้ว หากปล่อยไปเช่นนี้ไม่ช้านานศิลปะที่ควรอนุรักษ์ไว้ก็คงต้องสลายไปกับกาลเวลา เหลือเพียงตำนานหรือคำเล่าขานจากผู้เฒ่าผู้แก่ ที่ลูกหลานคงไม่มีโอกาสได้เห็นได้สัมผัสศิลปะไทยขนานแท้เป็นแน่"

อ.ธนัญชย์ ผู้ได้รับอนุญาตจาก อ.ณัฐวัฒน์ ในการนำการแสดง "หุ่นคน" ไปทำเป็นผลงานวิทยานิพนธ์ ซึ่งได้จัดทำขึ้นเมื่อครั้งที่ศึกษาอยู่ที่ภาควิชานาฏศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวทิ้งท้ายด้วยคำพูดและข้อคิดเด็ดๆว่า "ตอนนี้เท่าที่สังเกตจะมีการแสดงในลักษณะที่คล้ายกัน สำหรับเขานั้นเป็นความรู้สึกที่ดีเมื่อทราบว่ามีคนสนใจงานศิลปะชนิดนี้และมีคนทำงานแบบที่ใกล้เคียงกัน แตกต่างกันตรงที่เป็นแบบคลาสสิก หรือเป็นหุ่นนานาชาติ พร้อมกับยินดีที่มีคนได้นำแนวคิดของเขาไปปรับประยุกต์ต่อ อาจจะมุ่งแสดงเพื่อความสวยงาม แต่งานของเขาจะมีข้อคิดสัจธรรมที่แฝงอยู่ในการแสดงนอกเหนือจากความสวยงามเพียงเท่านั้น
ศิลปวัฒนธรรมของคนไทยไม่ได้น้อยหน้าคนต่างชาติเลย เพียงแต่ว่ายังไม่มีองค์กรที่จะมารองรับ รัฐบาลควรเป็นเหมือนแค่คนกลุ่มหนึ่งที่เสพงานเท่านั้น ไม่มีแรงผลักดันที่จะสนับสนุน บางทีทำแล้วยังโดนตำหนิ ศิลปินหมดกำลังใจ ไม่รู้จะทำเพื่ออะไร ไม่มีใครเห็นคุณค่าของงานศิลปะ
ปัจจุบันเริ่มดีขึ้นบ้างในบางส่วน แต่ควรศึกษาให้ละเอียดถ่องแท้ และรักงานศิลปะด้วยความจริงใจและปฏิบัติด้วยความจริงจัง ขอให้ "อนุรักษ์ สร้างสรรค์ สนับสนุน" เชื่อว่าวงการศิลปะจะไปได้ไกล กระทั่งกลายเป็นที่ยอมรับของสากล เหมือนวงจรชีวิต ถ้าขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไป เช่น ไม่อนุรักษ์-ของเก่าหาย ไม่สร้างสรรค์-งานก็คงที่ ไม่สนับสนุน-ไม่มีอะไรเกิดขึ้น







จะเห็นได้ว่าจากคำกล่าวของทั้งสองท่านผู้เชี่ยวชาญด้านการแสดงหุ่นคนจะเห็นพ้องต้องกันใน 2 ประการ ดังนี้
ประการแรก คือ ความต้องการอนุรักษ์และสืบทอดศิลปะการแสดงหุ่นคน จากคนรุ่นหนึ่ง สู่คนอีกรุ่นหนึ่ง ณ วันนี้ ลูกศิษย์ต่างมุ่งมั่นที่จะสืบทอด "มรดกทางปัญญา" อันเป็นความภาคภูมิใจของอาจารย์จอม มิใช่วิถีแห่งลาภยศชื่อเสียง หากเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต เป็นศูนย์กลาง ของความรักความผูกพัน ในหมู่ลูกศิษย์ และเป็นผลงาน ที่พวกเขามุ่งหวังให้เป็นหนึ่งในมรดก ทางวัฒนธรรมของแผ่นดิน
ประการที่สอง คือ การสนับสนุนจากผู้เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน เช่น ตอนนี้รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับศิลปะน้อยไป หรืออาจยังไม่ถูกจุด เพราะถ้ารัฐบาลให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ กล้าออกมาพูดจะสามารถปลุกกระแสได้ดีมาก เช่น วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ไปชมศิลปะ ให้เด็กได้เรียนรู้ศิลปะ ทำให้เด็กมีศิลปะนิสัยและสร้างสุนทรียรสให้เด็กมีจิตใจที่ดี ยิ่งประเทศที่พัฒนาแล้วเขาให้เด็กเสพศิลปะตั้งแต่เด็ก เป็นการปลูกฝังให้ซึมซับตั้งแต่เล็ก มีรายการโทรทัศน์ช่องศิลปะโดยตรง แต่บ้านเรายังไม่มีการสนับสนุนในเรื่องนี้ กลายเป็นว่า เด็กไทยเลียนแบบต่างชาติ ไม่เห็นค่าของงานศิลปะไทยเอง อยากให้เด็กไทยภูมิใจในศิลปวัฒนธรรมประจำชาติไทยบ้าง ด้วยการลองปรับเปลี่ยนมุมมองกันใหม่ เพราะศิลปะเป็นเครื่องจรรโลงโลก ขัดเกลาจิตใจ ช่วยแก้ปัญหาสังคมได้ และศิลปวัฒนธรรมไทยก็ไม่ล้าสมัย ไม่เป็นรองใคร จงภูมิใจกับศิลปะความเป็นไทยเถิด




















8. สรุป
การแสดงหุ่นคน สะท้อนให้เห็นมิติของการปรับประยุกต์ และพัฒนาต่อโดยไม่ยึดติดกับขนบเดิมจนเกินไป คณะหุ่นคนสามารถทำลายข้อจำกัดของการแสดง ซึ่งไม่ใช่การร่ายรำธรรมดา ๆ เพียงเท่านั้น หากเป็นการนำระบำรำฟ้อน มาผสมผสานกันระหว่างศิลปะการเชิดหุ่น และหนังใหญ่ต่าง ๆ ตลอดจนวิถีชีวิตในสังคมไทย มาดัดแปลงแต่งเติมเป็นบทแสดงออกมาในลักษณะของหุ่นคนหรือ “คนเชิดคน โดยไม่จำเป็นต้องใช้เวทีหรือฉาก ทำให้สามารถเปิดการแสดงได้ในพื้นที่จำกัด การแสดงอย่างมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ชม นับเป็นเสน่ห์อีกประการหนึ่งของหุ่นคน ที่ให้ความรู้สึกมีส่วนร่วมและเพิ่มสีสันให้การแสดงดู \"สด"\ ยิ่งขึ้น
กิจกรรมนี้สอนให้ผู้แสดงรู้จักอดทนกับการแสดง ทำให้ผู้แสดงรู้จักการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยในแบบของนาฏศิลป์ไทย ที่ตอนนี้อาจจะสูญหายไปบ้างแล้ว แต่การที่คณะหุ่นคนได้มาทำประยุกต์ ไม่ว่าจะเป็นการรำไทยประยุกต์หรือว่าการเต้นที่มีรำไทยผสม รวมทั้งการแสดงหุ่นคน ผู้ศึกษาเห็นว่าการแสดงหุ่นคนจะทำให้วัยรุ่นหันมาสนใจการแสดงมากขึ้นได้
เรื่องราวของการแสดงหุ่นคน คืออีกชีวิตอีกฉากหนึ่งของนาฏศิลป์ของไทย สื่อแสดงให้เห็นพลัง จิตนาการ พลังการเรียนรู้ สร้างสรรค์ ถ่ายทอดภูมิปัญญาของสังคมไทยผ่านงานศิลปวัฒนธรรม อันเปี่ยมด้วยพลังชีวิต มีความสง่างาม เปี่ยมด้วยอารมณ์ เพื่อเป็นสะพานเชื่อมความเข้าใจในวิถีชีวิต จิตวิญญาณของวัฒนธรรมไทย ระหว่างคนรุ่นต่อรุ่น และเพื่อเปิดอีกหนึ่งมุม มองต่ออนาคตความอยู่รอดของศิลปวัฒนธรรมไทย หากได้รับการสืบทอดและพัฒนาเพื่อให้คนรุ่นหลังได้ประจักษ์ในคุณค่าและร่วมดำรงรักษามรดกทางภูมิปัญญาของศิลปินพื้นบ้านไทย















รายการอ้างอิง

http://www.sakulthai.com/DSakulcolumndetailsql.asp?stcolumnid=4254&stissueid=2664&stcolcatid=13&stauthorid=234
http://modernine.mcot.net/inside.php?modid=2315?modtype=3
http://www.artbangkok.com/main/detailcontent.php?sub_id=328
http://www.siam-handicrafts.com/webboard/question.asp?QID=1333
http://lopburiguide.com/2550/music_inthe_Palace/p5.html

ไม่มีความคิดเห็น: